ฐานข้อมูล คือ มวลสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เก็บไว้อย่างเป็นระบบ ในสื่อที่ค้นหา และอ่านด้วยคอมพิวเตอร์
ประโยชน์ฐานข้อมูลมีประโยชน์ดังนี้
1. จัดเก็บข้อมูลได้ปริมาณมาก
2. ประหยัดเวลาในการสืบค้นข้อมูล
3. สามารถปรับปรุงข้อมูลในฐานข้อมูลให้ถูกต้อง มีความเป็นปัจจุบัน
4. สามารถเผยแพร่สารสนเทศได้อย่างกว้างขวาง
ประเภทของฐานข้อมูล
1. ฐานข้อมูลต้นเรื่อง (Full text Database) มีเนื้อหาเต็มตามเอกสารที่เป็นต้นฉบับ ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูล CHE PDF Dissertation Full Text ( E-Book ของสำนักวิทยบริการ) และฐานข้อมูล ACM Digital Library (Online Database ของสำนักวิทยบริการ )
2. ฐานข้อมูลบรรณานุกรม (Bibliographic Database) มีข้อมูลชื่อเอกสาร และข้อมูลอื่นๆ ที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นเอกสารชิ้นนั้น อาจจะมีสาระสังเขป (Abstract) ด้วย ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลรายการวัสดุสารสนเทศของห้องสมุด ฐานข้อมูล DAO เป็นต้น
3. ธนาคารข้อมูล (Data Bank) มีข้อมูลสั้นๆ มักจะมีตัวเลขเป็นส่วนประกอบสำคัญ ได้แก่ สถิติ กราฟ ตาราง ตลอดจนข้อมูลดิบในทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ข้อมูลประชากร ปริมาณการผลิตสินค้า ราคาผลผลิต การขาย รายได้ประชาชาติ การเงินการธนาคาร เป็นต้น
รูปแบบของฐานข้อมูล
1. ฐานข้อมูลสำเร็จรูปในรูปแบบซีดีรอม (CD-ROM) เป็นฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นเพื่อคนทั่วไป เนื้อหาไม่ลึกจนเป็นวิชาการในระดับสูง นิยมบรรจุข้อมูลลงในแผ่นซีดีรอมออกจำหน่ายแทนวัสดุตีพิมพ์ เช่น พจนานุกรม สารานุกรม และหนังสือสารคดีที่ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นต้น
2. ฐานข้อมูลออนไลน์ (Online Database) หมายถึง ฐานข้อมูลใดๆ ที่ให้บริการโดยผ่านระบบออนไลน์ เช่น ฐานข้อมูลที่หน่วยงานหนึ่ง ๆ สร้างขึ้นเพื่อใช้ภายในหน่วยงานนั้น เช่น ฐานข้อมูลลูกค้าของธนาคาร ฐานข้อมูลการลงทะเบียน และฐานข้อมูลรายการวัสดุสารสนเทศของห้องสมุด เป็นต้น
ฐานข้อมูลออนไลน์ที่ควรรู้จัก
1. กลุ่มการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ การพยาบาล เช่น AIDSLINE, MEDLINE, TOXLINE, International Pharmaceutical Abstracts
2. กลุ่มวิทยาศาสตร์ เช่น Science Direct, Chemical Abstracts, Applied Science & Technology Plus, Life Science
3. กลุ่มวิศวกรรมไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เช่น ACM, IEEE
4. กลุ่มเกษตรศาสตร์ เช่น AGRIS, AGRICOLA
5. กลุ่มธุรกิจ การบัญชี การจัดการ การตลาด การเงิน การประกันภัย เช่น ABI/Inform, Lexis/Nexis
6. กลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เช่น Sociofile, ERIC
7. กลุ่มที่มีเนื้อหาหลากหลายสาขา เช่น DAO Proquest, H.W. Wilson
การเลือกใช้ฐานข้อมูล
การเข้าใช้ฐานข้อมูลจำเป็นต้องรู้จักเลือกฐานข้อมูลให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เพื่อการประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และได้ผลการค้นจำนวนไม่มาก แต่ตรงกับความต้องการ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ในการเลือกใช้ฐานข้อมูลควรพิจารณาด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ขอบเขตเนื้อหา ต้องทราบว่าฐานข้อมูลแต่ละฐานมีเนื้อหาเกี่ยวกับสาขาวิชาใด แล้วพิจารณาว่าตรงกับความต้องการหรือไม่
2. ปริมาณเนื้อหา มีมากพอ และอยู่ในรูปแบบที่ต้องการ ฐานข้อมูลที่มีขนาดเล็กเกินไปจะทำให้หาข้อมูลไม่พบ และต้องหาซ้ำหลายครั้งจากหลายฐานข้อมูล
3. เนื้อหาทันสมัย ฐานข้อมูลที่ดีจะมีการปรับปรุง คือ นำข้อมูลใหม่ๆ เข้าฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
4. คุณภาพของข้อมูล ควรมีการแจ้งให้ทราบถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำฐานข้อมูล และนโยบายในการการเลือกข้อมูลมาลงในฐานข้อมูล
5. เครื่องมือช่วยค้น พิจารณาว่าใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีคำแนะนำในการค้นที่เข้าใจง่าย
6. ค่าใช้จ่าย พิจารณาว่ามีความคุ้มค่ากับสารสนเทศที่ค้นได้
วิธีสืบค้นสารสนเทศจากฐานข้อมูล
1. เตรียมคำค้นไว้หลายๆ คำ คำค้นดังกล่าวควรมีความเฉพาะเจาะจงตรงกับเรื่องที่ต้องการค้น ควรเตรียมคำค้นที่เป็นคำพ้องความหมาย ( Synonyms ) ไว้หลายๆ คำ เพื่อป้องกันปัญหาค้นได้ผลลัพธ์จำนวนน้อย
2. ใช้คำค้นที่เฉพาะเจาะจงขึ้น ใช้ในกรณีที่ได้คำตอบมากเกินไป เช่น
เอดส์ - เอดส์ ป้องกัน - เอดส์ ป้องกัน ฟอกไต
กุ้ง - กุ้งกุลาดำ - กุ้งกุลาดำ เลี้ยง - กุ้งกุลาดำ เลี้ยง น้ำกร่อย
By:นางสาวธารทิพย์ โลหณุต (แพร)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น