วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ System Analyst

นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ เริ่มงานโดยการหาข้อมูล ศึกษาและค้นหาปัญหาหรือความต้องการขององค์กรจากผู้บริหาร ความต้องการของผู้ใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ ต้องเข้าใจเป้าหมายของแต่ละระบบงานขององค์กร กำหนดเป้าหมายของการทำงานของระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ ค้นหาปัญหาของการทำงานและแบ่งปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการทำงานย่อย เพื่อสะดวกในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการแก้ปัญหา วิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์และการแก้ปัญหา ผู้วิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์จะใช้เทคนิคของการวิเคราะห์แบบโครงสร้าง สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จำลองแบบข้อมูล วิศวกรรมด้านข้อมูลข่าวสาร การสุ่มตัวอย่าง และหลักการบัญชีต้นทุน เพื่อวางแผนในการทำงานออกแบบขั้นตอนในการทำงาน ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่จะนำเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ ออกแบบรายงานของคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้และฝ่ายบริหาร เพื่อประกอบการตัดสินใจ นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ อาจจะต้องทำข้อมูลเปรียบเทียบการได้เปรียบในการใช้โปรแกรมหรือระบบที่ตนได้ พัฒนาขึ้นเสนอต่อผู้บริหารเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในการพัฒนาโปรแกรม คอมพิวเตอร์หรือระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ใหม่นั้น ประมาณการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบนั้นๆ ให้กับฝ่ายบริหารในการตัดสินใจ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ต้องทดสอบให้มั่นใจว่าโปรแกรมหรือระบบปฏิบัติการที่ได้รับอนุมัตินั้น ทำงานได้จริงตามที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นต้องออกแบบรายละเอียดงานที่ต้องการ ตลอดจนขั้นตอนของการทำงานต่างๆ ของผู้เขียน โปรแกรมคอมพิวเตอร์

นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ต้องทำงานร่วมกับผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อหา ข้อบกพร่องของโปรแกรม ทดสอบโปรแกรมที่โปรแกรมเมอร์ เขียนขึ้นวิเคราะห์ และแนะนำผู้เขียนโปรแกรมในการทำงาน อธิบายความต้องการของแต่ละขั้นตอนของการทำงานของคอมพิวเตอร์ให้กับผู้เขียนโปรแกรม และทดสอบโปรแกรมที่เขียนขึ้นใหม่ว่าสามารถเข้ากันได้กับระบบเดิมที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่

นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ต้องวิเคราะห์ระบบเครือข่ายต่างๆ เช่น LAN (Local Area Network) WAN (Wide Area Network) Internet หรือ Intranet เพื่อให้การสื่อสารระหว่างบุคคลในองค์กรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ผู้วิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ ต้องจำลองแบบเครือข่าย (Network) ทดสอบประสิทธิภาพในการทำงาน หาช่องโหว่ของระบบความปลอดภัยของ ข้อมูล (Security) และวิธีการป้องกันการลักลอบเข้ามาในระบบโดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต วิเคราะห์การใช้ฮาร์ดแวร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมกับเครือข่าย (Network) ขององค์กร

เพื่อนๆที่สนใจอาชีพนักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xn--72c0baa2eyce3a4p.com/

นายพิเชฐ โพธิ์สุวรรณ (BigM)

5 ความคิดเห็น:

  1. (เพิ่มเติม) คุณสมบัติของนักวิเคราะห์ระบบสมัยใหม่

    นักวิเคราะห์ระบบที่ดียังจะต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

    1. มีความชำนาญหลากหลายในศาสตร์คอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมภาษา ฮาร์ดแวร์
    เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
    2. มีความเข้าใจในระบบธุรกิจ ระบบการเงิน และระบบการตลาด เป็นอย่างดี
    3. มีความเข้าใจในความต้องการของผู้ใช้ระบบเป็นอย่างดี
    4. ต้องเป็นนักสำรวจ ที่ช่างสังเกตในรายละเอียดในรายละเอียดต่าง ๆ ของระบบ รวมทั้งองค์ ประกอบภายนอก
    ที่เกี่ยวข้องกับระบบ
    5. มีจรรยาบรรณต่อองค์กรที่พัฒนาระบบให้ ไม่นำข้อมูลที่ได้ซึ่งเป็นความลับขององค์กรไปเผยแพร่ภายนอกอันก่อให้
    เกิดผลเสียแก่องค์กร
    6. ต้องทำงานเป็นทีมได้อย่างดี
    7. มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากนักวิเคราะห์ระบบต้องมีการติดต่อประสานงานระหว่างบุคคลหลายกลุ่ม
    8. สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง
    9. มีความสามารถในการนำเสนอข้อมูลให้ทั้งผู้บริหารระดับสูงรวมไปถึงผู้ใช้ระบบ ให้สามารถเข้าใจได้โดยง่ายและ
    ตรงกัน
    10. มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ดี หากองค์กรนั้นสื่อสารภายในเป็นภาษาอังกฤษ
    11. สามารถทำงานภายในภาวะกดดันได้ เนื่องจากต้องทำงานกับบุคคลหลายฝ่าย
    12. เป็นนักจิตวิทยา ในการที่จะพูดคุยหรือติดต่อกับกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างถูกต้อง

    น.ส. ศุภญานี แต้มคุณ (มุก)

    ตอบลบ
  2. นักวิเคราะห์ระบบนั้น ต้องมีความเข้าใจในระบบของตัวเองได้อย่างดี ถึงจะทำระบบอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ และยังจะสามารถอธิบายรายละเอียดของระบบที่ทำขึ้นมาได้ดีอีกด้วย

    กรรณิการ์ อภินันทกุล (นิ*)

    ตอบลบ
  3. นักวิเคราะห์ระบบจะเป็นผู้ที่ศึกษาถึงปัญหาและความต้องการของนักธุรกิจ โดยนำเอาปัจจัย 3 ประการ คือ คน ( people ) วิธีการ ( method ) และคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี ( computer technology ) ใช้ในการปรับปรุงหรือแก้ปัญหาให้กับนักธุรกิจ
    เมื่อได้มีการนำเอาพัฒนาการทางเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์มาใช้ นักวิเคราะห์ระบบจะต้องรับผิดชอบถึงการกำหนดลักษณะของข้อมูล ( data ) ที่จะจัดเก็บเข้าสู่ระบบงานคอมพิวเตอร์ การหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงของข้อมูลและระยะเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้หรือธุรกิจ ( business users )

    นักวิเคราะห์ระบบไม่ได้เพียงวิเคราะห์หรือดีไซน์ระบบงานเท่านั้น หากแต่ยังขายบริการทางด้านระบบงานข้อมูล โดยนำเอาประโยชน์จากเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ควบคู่กันไปด้วย

    จากบทบาทของนักวิเคราะห์ระบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้นักวิเคราะห์ระบบจะต้องมีความรู้ทั้งทางภาคธุรกิจหรือการดำเนินงาน ในหน่วยงานต่างๆ และคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน นักวิเคราะห์ระบบโดยส่วนใหญ่สามารถที่จะดีไซน์ระบบงานและเขียนโปรแกรมขึ้นได้ด้วยตัวเอง ส่วนนี้เองกลับทำให้บุคคลภายนอกเกิดความสับสนระหว่างโปรแกรมเมอร์กับนักวิเคราะห์ระบบ

    ธิดารัตน์51040844 (กีต้าร์)

    ตอบลบ
  4. ความเห็นส่วนตัวนะ นักวิเคราะห์ระบบนอกจากจะใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาเพื่อวิเคราะห์และออกแบบระบบแล้ว สิ่งสำคัญก็คือประสบการณ์แล้วก็ความช่างสังเกตที่จะช่วยให้วิเคราะห็และออกแบบระบบได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ด้วย

    นัทธมน847(โดนัท)

    ตอบลบ
  5. สิ่งที่สำคัญอีกอย่างต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ SA สามารถเข้าไปมีส่วนรับรู้และแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทุกอย่างในระบบได้ไม่ว่า ข้อมูลนั้นจะเป็นของใครก็ตาม ดังนั้นคุณธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ SA ทุกคนต้องมี (SA ต้องเป็นคนดีนะจ๊ะ )

    ศิริมา กุลอุดมทรัพย์ (note) :D *

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น