วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลักความสำเร็จของการพัฒนาระบบงาน

หลักความสำเร็จของการพัฒนาระบบงาน
หลักการทำให้การพัฒนาระบบงานประสบความสำเร็จ ซึ่งนักวิเคราะห์ระบบควรรู้ถึงหลักการเหล่านี้ด้วย หลักความสำเร็จของการพัฒนาระบบ ได้แก่
1. ระบบเป็นของผู้ใช้
นักวิเคราะห์ระบบควรระลึกเอาไว้เสมอว่า ระบบเป็นของผู้ใช้ ซึ่งจะเป็นผู้ที่นำเอาระบบและผลงานที่ได้ทำการออกแบบไว้ไปใช้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบธุรกิจของเข่า ผู้ใช้ระบบจึงมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้การพัฒนาระบบงานเป็นไปอย่างถูกต้อง และเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่แท้จริง นักวิเคราะห์ระบบจะต้องนำเอาความเห็นของผู้ใช้ระบบมาเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของการพัฒนาระบบ ในวงจรการพัฒนาระบบงานจะต้องมีบทบาทของผู้ใช้ระบบอยู่เสมอทุกขั้นตอน การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบของผู้ใช้ระบบ จะทำให้ผู้ใช้ระบบรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของระบบและจะลดแนวความคิดที่ว่าผู้ใช้ระบบถูกยัดเยียดงานใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยอัตโนมัติ แรงต่อต้านของระบบงานก็จะลดลง
2. ทำการจัดตั้งและแบ่งกลุ่มของระบบออกเป็นกลุ่มงานย่อย
กลุ่มงานย่อย ๆ ซึ่งแบ่งออกจากระบบใหญ่ ตามวงจรการพัฒนาระบบงาน ได้แบ่งขั้นตอนของการทำงานเป็นกลุ่มย่อย 4 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนการวิเคราะห์ระบบงาน (System Analysis)
  • ขั้นตอนการออกแบบและวางระบบงาน (System Analysis)
  • ขั้นตอนการนำระบบงานเข้าสู่ธุรกิจเพื่อใช้ปฏิบัติงานจริง (System Implementation)
  • ขั้นตอนการติดตามและดำเนินการภายหลังการติดตั้งระบบงาน (System Support)

สาเหตุที่ต้องมีการจัดแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ นั้น เพื่อที่จะให้ผู้บริหารโครงการหรือผู้พัฒนาระบบงานสามารถควบคุมความคืบหน้าของการพัฒนาระบบได้อย่างใกล้ชิด และสามารถที่จะกำหนดและควบคุมระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาระบบได้ดีขึ้นอีกด้วย
3. ขั้นตอนการพัฒนาระบบงานไม่ใช่แบบอนุกรม (Sequential Process)
ขั้นตอนในการพัฒนาระบบงานที่ได้กล่าวมา 2 ข้อแรกนั้น สามารถจะทำซ้อนกันได้ในลักษณะที่ไม่จำเป็นจะต้องรอให้ขั้นตอนแรกทำงานเสร็จก่อนจึงจะทำงานในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย โดยบางขั้นตอน จะต้องรอให้การทำงานเสร็จ สมบูรณ์ก่อนจึงจะสามารถทำงานในขั้นต่อไปได้
4. ระบบงานข้อมูลถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง
การพัฒนาระบบงาน ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่แตกต่างจากการลงทุนซื้อสินค้ามาทำการขายต่อให้ผู้บริโภค สิ่งที่นักวิเคราะห์ระบบควรจะต้องคำนึงถึง คือ ทางเลือกต่าง ๆ ที่จะนำเงินไปลงทุน ซึ่งควรคิดทางเลือกของการพัฒนาระบบงานในหลาย ๆ งานและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ รวมถึงการเปรียบเทียบต้นทุนและผลกำไรที่จะเกิดจากระบบงาน ว่าระบบงานนั้น ๆ คุ้มค่าที่จะทำการลงทุนหรือไม่
5. อย่ากลัวที่จะต้องยกเลิก
ทุกขั้นตอนของวงจรการพัฒนาระบบงานจะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของระบบงาน นักวิเคราะห์ระบบจะมีโอกาสเสมอที่จะตัดสินใจว่าจะให้ระบบงานนั้นดำเนินต่อไปหรือยกเลิกระบบที่ได้มีการพัฒนาขึ้น ความรู้สึกของนักวิเคราะห์ระบบที่จะต้องถูกยกเลิกงานที่ทำมาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะศึกษาวิเคราะห์ออกแบบจนออกมาเป็นระบบงานใดงานหนึ่งคงจะเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีนัก และไม่มีนักวิเคราะห์ระบบคนใดที่อยากจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ แต่เมื่อการพัฒนาระบบงานไม่สามารถจะทำให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ระบบได้ การยกเลิกโครงการหรือระบบงานก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
ข้อเสียต่อความกลัวที่จะต้องยกเลิกระบบงาน คือ

  • สุดท้ายแล้วระบบงานนั้นก็จะต้องทำการยกเลิกอยู่ดี เมื่อพยายามจะ หลีกเลี่ยงการยกเลิกระบบงาน
  • การดันทุรังให้ระบบงานที่ควรจะยกเลิกให้ทำงานต่อไป จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากไปลงทุนเพิ่มในระบบที่ไม่ควรจะลงทุน
  • ใช้เวลาและจำนวนคนเพิ่มมากขึ้น ทำให้งบประมาณบานปลาย จนไม่สามารถที่จะควบคุมได้

6. ทุกขั้นตอนของการพัฒนาระบบงานต้องมีการจัดทำเอกสารเพื่อใช้อ้างอิงเสมอ
การขาดการทำเอกสารประกอบหรือเอกสารอ้างอิงมักจะส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดต่อระบบงานและต่อนักวิเคราะห์ระบบ เพราะการจัดทำเอกสารมักจะถูกมองข้ามไป เนื่องจากเห็นว่าการจัดทำเอกสารเป็นสิ่งที่เสียเวลา แม้กระทั่งในส่วนของโปรแกรมเอง โปรแกรมเมอร์มักจะไม่นิยมเขียนคำอธิบายการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าโปรแกรมส่วนนั้น ๆ ทำอะไร เพื่ออะไร ทั้งนี้เป็นการยากลำบากสำหรับการกลับมาแก้ไขโปรแกรมในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีผลทำให้การบำรุงรักษาระบบเป็นการยากและเสียเวลา บางครั้งอาจจะไม่สามารถแก้ไขระบบได้ถึงขนาดที่จะต้องเริ่มการศึกษาวิเคราะห์และออกแบบระบบกันใหม่ การจัดทำเอกสารในที่นี้ หมายรวมถึงการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ และแนวความคิด รวมทั้งข้อสรุปที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาระบบงานด้วย

http://itd.htc.ac.th/st_it50/it5016/nidz/Web_Analyse/unit2.html

นางสาวอริญญา ปิ่นแก้วกาญจน์ ปอย

4 ความคิดเห็น:

  1. ความสำเร็จขอองการพัฒนาระบบงาน คือ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สะดวก ถูกต้อง และรวดเร็ว และสามารถเพิ่มผลิต โดยใช้ต้นทุนและเวลาต่ำสุด

    นางสาว ณัฐธีรดา ละดาดก

    ตอบลบ
  2. สรุปหลักความสำเร็จของการพัฒนาระบบคือ ต้องเข้าใจระบบงาน และทราบถึงความต้องการของผู้ใช้

    พิเชฐ โพธิ์สุวรรณ (บิ๊กเอ็ม)

    ตอบลบ
  3. การพัฒนาระบบจะทำให้ผู้ใช้งานนั้นมีความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น

    นายต้น เหรียญรุ่งเรือง (ต้น)

    ตอบลบ
  4. หลักความสำเร็จของการพัฒนาระบบ
    ผู้พัฒนาต้องสามารถพัฒนาระบบให้ได้คุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ ลดความสิ้นเปลืองในการใช้วัสดุ ประหยัดเวลา มีความปลอดภัย เพราะถ้าพัฒนาดีแค่ไหน ผู้ใช้งานไม่ยอมรับ การพัฒนาก็ถือว่าเป็นระบบที่ยังดีไม่พอ


    ศิริมา กุลอุดมทรัพย์ (note) :D *

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น