วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking)

"การคิดอย่างเป็นระบบ" (System Thinking)

การดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การกิน การเดินทาง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ใช้กระบวนการทางความคิดเป็นหลักทั้ง สิ้น ผู้ที่คิดอย่างเป็นระบบได้มากที่สุด ผู้นั้นก็จะ มีความได้เปรียบในการดำเนินชีวิต ปัจจุบันในเกือบทุกองค์กรได้มีการพัฒนาบุคลากรของตนเองให้มีความสามารถในการคิด และทำอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร การคิดอย่างเป็นระบบเป็นส่วนหนึ่งของวินัย 5 ประการ ตามแนวคิดในการพัฒนาองค์กรของการเรียนรู้ของ Dr.Peter Senge (ผู้เขียนเรื่อง The Fifth Discipline : The Art and Practice of the Learning Organization) ซึ่งได้แก่

1.รูปแบบความคิด/จิตใจ (mental model)
2.ความเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล (personal mastery)
3.การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (shared vision)
4.การเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม (team learning)
5.การคิดอย่างเป็นระบบ (system thinking)

แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่าน หรือศึกษาหลักการเพียงอย่างเดียวแล้วจะทำได้ดี ตรงกันข้ามท่านจะต้องฝึก และทดลองปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน

การคิดอย่างเป็นระบบจริงๆ แล้วมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในส่วนของงานและตัวบุคคล เช่น งานทางด้านวิศวกรรม (engineering) ทางด้านขนส่ง (logistics) ทั้งนี้เป้าหมายก็เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันบุคคลที่คิดอย่างเป็นระบบได้เป็นรูปธรรมจริงๆ และเห็นได้ชัดคือ นักพัฒนาโปรแกรมหรือคนเขียนโปรแกรม (programmer) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบและสลับซับซ้อน มีความคิดอย่างเป็นระบบย่อยๆ อยู่ในความคิดอย่างเป็นระบบหลัก ซึ่งเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล

แต่นั่นก็คือการทำงานที่ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล ซึ่งต่างกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลทั่วไป โดยจะเกี่ยวข้องกับงาน บุคคล และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา และเพื่อให้ท่านได้เข้าใจในหลักการง่ายๆ ของการคิดอย่างเป็นระบบซึ่งปกติทุกคนก็มีอยู่แล้วนั้น

โดยในเบื้องต้นขอยกตัวอย่างการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ปกติแล้วจุดประสงค์หลักในการรับประทานอาหารของทุกคนก็คือ "อิ่ม" โดยมีจุดมุ่งหมายรองซึ่งแตกต่างกันแต่ละบุคคล เช่น อาหารมื้อนั้นต้องอร่อย อาหารมื้อนั้นต้องครบ (เกือบครบ) 5 หมู่ ราคาประหยัด อาจมีเป้าหมายย่อยลงไปคือ ร้านที่จะไปรับประทานอยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือเป็นร้านทางผ่านที่ต้องเดินทางไปต่อ เป็นต้น เมื่อเราไปถึงร้านอาหารที่ขายข้าวแกงโดยเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าวันนี้ร้านค้าทำกับข้าวอะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อเราไปเห็นอาหารเราก็จะเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับระดับความต้องการของคนคนนั้น แต่ท้ายสุดแล้วทุกคนก็จะอิ่ม ซึ่งความคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นล้วนเป็นความคิดอย่างเป็นระบบทั้งสิ้นโดยมีจุดมุ่งหมายหลักก็คือ "อิ่ม"

แต่ในภาวะการทำงานจริงๆ โดยเฉพาะบุคคลระดับหัวหน้างานขึ้นไป ความคิดอย่างเป็นระบบมีความสำคัญอย่างมาก เพราะงานจะเข้ามาตลอดเวลาเหมือนกับสายพานลำเลียง แต่หากเราไม่มีกระบวนการทางความคิดที่ดีหรืออย่างเป็นระบบแล้ว งานก็เดินหรือลำเลียงออกไปไม่ได้ และนั่นก็คือปัญหาที่จะตามมาอีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าความสำคัญของงานก็จะแปรผันตามระดับความรับผิดชอบของเรา ดังนั้นคนที่เป็นระดับหัวหน้างานขึ้นไปจะต้องหมั่นทำเป็นประจำ

ทำอย่างไรที่จะคิดอย่างเป็นระบบ (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลักสูตรในการอบรม) ขั้นแรกต้องฝึกจินตนาการ (ไม่ใช่เพ้อฝัน) โดยมีเหตุมีผล เป็นการจำลองเหตุการณ์ทางความคิด ซึ่งคนที่จะทำการ simulation ได้ดี คนคนนั้นจะต้องมีประสบการณ์หรือพื้นฐานในเรื่องนั้นดีด้วย เพราะไม่เช่นนั้น simulation ก็จะไม่เป็นจริง แต่ถ้าเราไม่รู้ล่ะ... ก็ต้องหาข้อมูลและทำให้ตัวเองรู้ให้ได้ไม่เช่นนั้นความล้มเหลวหรือความผิดพลาดก็จะตามมา ท่านลองคิดซิว่าถ้าท่านต้อง รับผิดชอบจัดงานเลี้ยงพนักงานประจำปี หรือจัด พนักงานไปอบรมดูงานนอกสถานที่ ท่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยคนที่ไม่อยากคิดมากอาจใช้วิธีจ้างคนมาดำเนินการแทน ในงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผู้รับจ้างก็จะบวกค่าดำเนินการ (ค่าความคิดของเขา) เข้าไปด้วย แต่ถ้าเราทำเองล่ะ...จะประหยัดกว่าหรือไม่

การทำงานในปัจจุบันก็เช่นกัน เราต้องตัดสินใจทำอะไรก่อนหลังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตามที่เราได้เรียนหรืออบรมมาก็จะมีการจัดลำดับการทำงานอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ

1.งานด่วน และสำคัญ
2.งานด่วน แต่ไม่สำคัญ
3.งานไม่ด่วน แต่สำคัญ
4.งานไม่ด่วน และไม่สำคัญ

เกือบทั้งหมด ก็จะเลือกทำงานด่วนและสำคัญเป็นอันดับแรก ถ้าถามถูกมั้ย ก็ตอบว่าไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะในชีวิตการทำงานจริงเราจำเป็นต้องให้มีผลงานออกมาในแต่ละวันโดยเฉพาะงานที่เจ้านายสั่ง ซึ่งบางครั้งเราอาจจะต้องเอางานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญก่อน หากงานนั้นใช้เวลา 5-10 นาทีหรือเพียง 1 นาที (ออกคำสั่ง) ซึ่งนั่นคือผลงานที่ออก มาแล้วอย่างน้อย 1 อย่าง แต่ถ้าท่านทำงานด่วนและสำคัญก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาครึ่งวัน เจ้านายอาจจะเดินมาหาท่านหลายรอบ เพราะยังไม่มี งานออกมาเลยสักอย่าง คุณคิดว่าเจ้านายจะคิดอย่างไร ???

การคิดอย่างเป็นระบบไม่ใช่แค่เป็นการสร้างให้บุคคลหรือทีมงานมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นการมองภาพรวมเท่านั้น ยังจะช่วยขจัดปัญหาความ ซับซ้อนของงานได้อีกด้วย และยิ่งเราเป็นระดับหัวหน้างานด้วยแล้ว เราก็จะเป็นเพียงคนจัดลำดับวางแผนและตัดสินใจงานเท่านั้น หากเราคิดอย่างเป็นระบบได้ดี งานก็จะออกมาอย่างต่อเนื่องและนั่นคืออนาคตของท่าน ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบนั่นเอง

คอลัมน์ เส้นสายลายคิด โดย จรีพร แก้วสุขศรี คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3710 (2910)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ----- http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q3/article2005aug01p4.htm

By: นางสาวปิยะดา โซ๊ะประสิทธิ์ (เดียร์)

8 ความคิดเห็น:

  1. การคิดอย่างเป็นระบบนั้นเหมือนกับเป็นการลดปัญหาต่างๆตั้งแต่เริ่มแรกในระบบงานไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ถ้าหากผู้คิดไม่ได้มีการวางแผนการคิดอย่างเป็นระบบในการทำงานต่างๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่ตามอยู่เรื่อยๆ นั้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งทีทำให้การทำงานนั่น มีความยุ่งยากเพิมขึ้น ซึ่งถ้าหากเรายอมเสียเวลาในการวางแผนการคิดให้รอบครอบ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดีกว่าไปเสียเวลาแก้ไขปัญหาที่เกิดมาแล้ว อย่างที่โบราณกล่าวไว้ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้"

    น.ส.สุวดี แจ้งจิตร(เฟิร์น)

    ตอบลบ
  2. การดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การเดินทาง ต่างๆล้วนแล้วแต่ใช้กระบวนการทางความคิดเป็นหลักทั้งหมดการที่เราคิดอย่าง เป็นระบบจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งจะสามารถช่วยขจัดปัญหาความ ซับซ้อนของงานต่างๆได้
    ซึ่งถ้าเรารู้จักคิดอย่างเป็นระบบนั้น เราสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

    ชุติมน ศิริศรชัย(ก้อย)*:)

    ตอบลบ
  3. การคิดอย่างเป็นระบบนั้นจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นและสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการวางแผนไว้ว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดควรทำในลำดับถัดมา อีกทั้งการคิดอย่างเป็นระบบนั้นยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนของงาน ดังนั้นจึงทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

    น.ส.รัตน์ชนันท์ ถาวรศักดิ์สุธี (โบว์ลิ่ง)

    ตอบลบ
  4. การคิดเป็นระบบสามารถนำไปใช้ได้กับการทำงนทุกอย่างในชีวิตประจำวัน การคิดเป็นระบบอาจจะทำให้ลดขั้นตอนการดำเนินงาน ค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่างๆอีกด้วย

    ตอบลบ
  5. ในชีวิตประจำวัน การคิดอย่างเป็นระบบก็มีความสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไร ยิ่งบุคคลที่เป็นหัวหน้าขึ้นไป การคิดอย่างเป็นระบบก็ยิ่งมีความสำคัญมากขั้นๆ เพราะจะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    ๘๔๗นัทธมน

    ตอบลบ
  6. หลักการคิดหรือการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ ประกอบไปด้วย
    1.) กำหนดประเด็นปัญหาให้ถูกต้อง อาจกำหนดได้เป็น ปัญหาหลัก และปัญหารอง
    2.) ระบุตัวแปรทั้งหมด ที่ทำให้เกิดปัญหา
    3.) กำหนดวิธีแก้ไขหรือพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ อาจมีมากกว่า 1 วิธี
    4.) เปรียบเทียบวิธีแก้ไข แต่ละวิธี และประเมินดูว่าวิธีการใดสามารถจะนำไปสู่การปฏิบัติได้และจะนำไปสู่การบรรลุผลตามเป้าหมาย
    5.) เลือกวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด
    6.) นำไปทดลองปฏิบัติ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม
    7.) ติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด
    8.) แก้ไขเปลี่ยนแปลงจุดที่พกพร่องในวิธีการปฏิบัติงาน
    9.) กำหนดมาตรฐานวิธีปฏิบัติงาน
    10.) สั่งการให้พนักงานปฏิบัติงานตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

    ซึ่งตามหลักการที่กล่าวมานั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการทำงาน และชีวิตประจำวันได้

    น.ส.ศุภญานี แต้มคุณ (มุก)

    ตอบลบ
  7. จากการที่ได้อ่านศึกษาบทความนะค่ะ ..
    ความคิดอย่างเป็นระบบมีความสำคัญอย่างมาก ในชีวิตประจำวันคนเราก็ต้องรู้จักคิดอย่างเป็นระบบเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ในสภาวะของการทำงานก็เช่นกันหากเราไม่มีกระบวนการทางความคิดที่ดีหรืออย่างเป็นระบบแล้ว งานก็จะออกมาไม่เป็นไปตามความต้องการที่ถูกต้องและมีคุณภาพได้ และนั่นก็คือปัญหาที่จะตามมาอีกหลายอย่าง ^___^

    น.ส. ชุติมา สิงห์เส .. 'อ๋อหรอ' :)

    ตอบลบ
  8. การคิดอย่างเป็นระบบ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น ช่วยขจัดปัญหาความ ซับซ้อนของงานได้ ซึ่งเพื่อนๆควรหมั่นฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบไว้บ้างก็ดีเพราะมันช่วยในการทำงานในวิชาสัมนา หรือปัญหาพิเศษได้ดี เพราะการคิดอย่างเป็นระบบจะช่วยให้งานออกมาได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัดนั่นทำให้การทำสัมนาหรือปัญหาพิเศษประสบผลสำเร็จนั่นเอง

    นางสาวบุษยา รินจันทร์ (กี๋) รหัส 51040853

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น