อ้างเป็นหนี้ค่าโทร และฐานข้อมูลถูกเจาะ หรือต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นกระทันหัน แต่เป้าหมายเหมือนเดิม คือหลอกเหยื่อกดตู้เอทีเอ็มโอนเงินให้ พร้อมแนะผู้ใช้โทรศัพท์อย่าหลงเชื่อหากมีใครหลอกให้ทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็ม…
เมื่อเร็วๆ นี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพทางโทรศัพท์มือถือได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการหลอกลวงผู้บริโภค จากเดิมที่ใช้ข้ออ้างประเภทถูกรางวัล เป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้ธนาคาร เพื่อหลอกให้ผู้รับโทรศัพท์ไปที่ตู้เอทีเอ็มและกดโอนเงินให้กับกลุ่มมิจฉาชีพนั้น ล่าสุดกลุ่มมิจฉาชีพได้ใช้ข้ออ้างใหม่เกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม เช่น การแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้โปรโมชั่นมือถือใหม่ที่เหมาะสมกับวัยหรือพฤติกรรมการชำระหนี้ค่าโทรศัพท์ โดยมีส่วนลดให้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การหลอกล่อให้เหยื่อไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อกดรหัสต่างๆ อันส่งผลในการโอนเงินให้แก่ผู้ที่โทรมา ที่ความจริงเป็นเพียงการกดโอนเงินให้กับผู้ที่โทรมา
แม้ประเด็นการอ้างจะแตกต่างออกไป แต่วิธีการทั้งหมดและเป้าหมายนั้นไม่ต่างจากกรณีที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ อาทิ กรณีที่อ้างว่าโทรมาจากธนาคาร บอกว่าข้อมูลของคุณถูกเจาะระบบขอให้ไปแก้ไขข้อมูลที่ตู้เอทีเอ็ม ผลที่สุดคือมีการโอนเงินออกไปกว่าแสนบาท โดยที่เหยื่อของการหลอกลวงเหล่านี้มีทั้งผู้มีความรู้และฐานะสูง เช่น ทันตแพทย์ ผู้พิพากษา เป็นต้น สะท้อนว่าผู้โทรเข้ามาย่อมมีความสามารถในการสร้างเรื่องได้สมจริงอย่างยิ่ง
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า เทคนิคการหลอกลวงในเรื่องนี้ จะมี 2 แนวทาง คือ ทางหนึ่งอาศัยความโลภ เช่น บอกว่า ถูกรางวัล แต่ต้องไปจ่ายภาษีก่อน หรือจะรับเงินภาษีคืนต้องไปรับคืนที่ตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น แต่วิธีการเหล่านี้คนเริ่มรู้ทันมากขึ้น ทางที่สองจึงอาศัยความกลัว เช่น บอกว่าคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ข้อมูลกำลังถูกเจาะ หรือต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นมือถือ เพราะที่ใช้เดิมจะยกเลิกแล้ว เดี๋ยวค่าใช้จ่ายจะพุ่งสูงขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้รับสายกลัวจนต้องไปแก้ไขข้อมูลที่ตู้เอทีเอ็ม สำหรับลักษณะของเบอร์โทรเข้าของกลุ่มมิจฉาชีพนี้ ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า เป็นเบอร์ส่วนตัว (private number) หรือ no caller id หรือบางครั้งบอกตัวเลขเพียง 2 หลักแรกที่เหลือเป็นตัวเลขแปลกๆ เช่น ขึ้นต้นด้วยตัวเลขที่ไม่ใช่ 0 นำหน้า หรือเป็นเบอร์ที่โทรผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ voip ซึ่งจะขึ้นต้นด้วย 06 หรือมีเครื่องหมาย + นำหน้าเหมือนโทรจากต่างประเทศ เป็นต้น หากมีสายโทรเข้าที่ปรากฏข้อความหรือเลขแปลกๆ ดังกล่าว ก็ควรจะตั้งหลักระมัดระวังไว้ชั้นหนึ่งก่อน สิ่งที่สำคัญกว่าคือ สิ่งที่ผู้โทรเข้านำมาบอกกล่าว หากเป็นการพูดคุยเพื่อให้ไปทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเพื่อกดรหัสต่างๆ แล้ว ขออย่าได้ดำเนินการตาม เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมใดย่อมมีช่องทางอื่นๆ ให้ทำได้
“ไม่ว่าจะมีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นหน่วยงาน องค์กร หรือธุรกิจใด โทรมาเพื่อให้ผู้บริโภคไปทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านตู้เอทีเอ็ม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทางที่ดีคืออย่าได้ทำตามเลยครับ ถ้าเรื่องที่กล่าวอ้างฟังดูมีมูล เราค่อยเป็นฝ่ายติดต่อกลับไปยังหน่วยงานเหล่านั้นเองจะดีกว่า” นายประวิทย์ กล่าว
มิจฉาชีพในปัจจุบัน แฝงเข้ามาในทุกรูปแบบ
ตอบลบ